Seacrest ... ที่สุดของตำนานแห่งหายนะในประวัติศาสตร์การขุดเจาะฯนอกชายฝั่งอ่าวไทยที่พวกเราไม่เคยลืม

คำอุทิศ

... แด่ 91 ดวงวิญญานของผู้ล่วงลับ
... แด่ดวงใจของผู้สูญเสียคนที่ท่านรักสุดหัวใจในเหตุการณ์นี้
... แด่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม)

ข้าพเจ้ามิได้มีเจตนา ตัดสิน การตัดสินใจ หรือ ลบหลู่ เกียรติยศและศักดิ์ศรีของท่านในเหตุการณ์ครั้งนั้น เจตนาเดียวของข้าพเจ้าคือให้โลกรู้ถึงหัวใจที่กล้าหาญ เสียสละ ในช่วงนาทีสุดท้ายของชีวิตของพวกท่าน ที่ไม่มีใครได้รับรู้ ข้าพเจ้าต้องการบันทึกไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียน และ ให้สังคมตระหนักถึง งานที่ท่านและพวกเราเสี่ยงชีวิตทุกวันในโลกใบเล็กๆ กลางพื้นน้ำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของท้องทะเล ฟ้า กระแสลม และ แม่ธรณี

... งานที่ท่านและพวกเราเสี่ยงชีวิตทุกวันในโลกใบเล็กๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ของคนที่ท่านและพวกเรารักที่อยู่บนฝั่ง

หากมีข้อความใดในบทความนี้ที่ข้าพเจ้าแสดงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ก้าวล่วง หรือ ทำให้ท่านไม่สบายใจ กังวลใจ ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านทราบว่าการณ์นั้นเป็นไปด้วยจิตที่บริสุทธิ์ หากแต่ เขลาปัญญา ขาดความรอบคอบ ข้าพเจ้ากราบขออภัยท่านมา ณ.ที่นี้ ข้าพเจ้าขอน้อมรับความเขลาและความผิดพลาดทั้งหมดในบทความนี้ด้วยตัวข้าพเจ้าเอง และ ขอให้ท่านอโหสิกรรมในความผิดพลาดและความเขลาปัญญาของข้าพเจ้า

ด้วยความเคารพและนับถือ ทุกดวงวิญญาณที่จากไป และ ทุกดวงใจที่สูญเสีย

www.nongferndaddy.com

-----------------------------------

ปี 1989 ...

... กลางทะเลทรายนอกเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ เช้าวันหนึ่งในต้นเดือนพฤษจิกายน ผมเดินเข้ามาในออฟฟิตสนาม เห็นเพื่อนๆร่วมอาชีพมุงกระดานข่าวอยู่หน้าห้องฝึกอบรม Wireline Field Engineer

.... มีเสียงหนึ่งพูดกับผมว่า ... Come ... It is your country ! ผมก็เดินไปอ่าน เป็นข่าวแฟ๊กซ์สั้นๆว่า Seacrest : Drill Ship sunk in the Gulf of Thailand ... 91 life lost

... หลังจากหกเดือนกว่าที่เข้ามาในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้นน้ำ เป็นครั้งแรกที่ผมตะหนักถึงอันตรายของการทำงานในวงการนี้

หลายสิบปีผ่านไป ...

ตอนแรกๆผมคิดจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยั้งปากกาไว้เพราะว่าข้อมูลเบาบางมากเหลือเกินที่จะเขียนแบบฟันธงอะไรลงไป เลิกล้มความตั้งใจไปหลายปี จนมีเหตุการณ์ Deepwater Horizon ที่ทำให้มีความตั้งใจนี้ขึ้นมาใหม่ ส่วนหนึ่งก็มาจากเสียงของพวกเราที่ถามไถ่กันมาทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์ และ ส่วนหนึ่งคือ อยากรวบรวมหลักฐานและเหตุการณ์จากหลายๆแหล่งข่าว เท่าที่จะหาได้ รวมไว้ในที่ๆเดียวกัน โดยปราศจากการตัดสิน ฟันธง อะไรลงไป

บอกกันตรงนี้ก่อนจะอ่านกันต่อไปนะครับ ที่จะอ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่อง เครียด ยาว เต็มไปด้วยข้อมูล ข้อขัดแย้ง ถกเถียง ไม่สนุก ไม่มีมุกฮา และ อาจจะน่าเบื่อนิดๆ เพราะเป็นเรื่องของการบันทึกความสูญเสีย และ บทเรียน



ในการณ์นี้มีข้อตกลงกันเบื้องต้นเกี่ยวกับการอ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูลตามนี้นะครับ เพื่อจะได้เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในแหล่งข่าวโดยตรง

1. Wikipedia - (ใช้ตัวย่อ wki) แหล่งนี้ทุกคนทราบกันดี
2. Thai Wreck Diver - (ใช้ตัวย่อ twd) เว็บไซด์เอกชน
3. Oil Rig Disasters - (ใช้ตัวย่อ ord) เว็บไซด์เอกชน
4. Failure Analysis Associates®, Inc. - (ใช้ตัวย่อ faa) รายงานของบริษัทเอกชนที่บริษัทน้ำมันยูโนแคลจ้างมาสืบสวนเหตุการณ์นี้
5. สัมภาษณ์จากแหล่งข่าวหลายๆแหล่งของผม My Sources - (ใช้ตัวย่อ mso) ขอสงวนที่มาของแหล่งข่าว
6. ความเห็น ความรู้ และ ประสบการณ์ของผมเอง My Opinions - (ใช้ตัวย่อ mop) อันนี้ความน่าเชื่อถือของผมเองล้วนๆ

แหล่งข่าวแต่ล่ะแหล่งก็ไม่ได้เป็นอิสระต่อกัน นั่นแหมายความว่า แหล่งข่าวหนึ่งอาจจะเอาข้อมูลมาจากแหล่งข่าวหนึ่ง หรือ ไปเอาข้อมูลมาจากที่เดียวกัน พวกเรามีสิทธิ์ที่จะให้น้ำหนักของแหล่งข่าวได้ตามวิจารณญาณของแต่ล่ะคนตามแต่จะพิจารณาได้เลยครับ ผมจะทำหน้าที่แค่เอาข้อมูลมารวบรวม แปล เรียงร้อย และ นำเสนอในรูปแบบบ้านๆ

ขออภัยที่ร่ายยาวและอารัมภบทเยอะ แต่อยากให้เข้าใจตรงกันถึงที่มาที่ไป และ แนวทางของการนำเสนอ เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกๆฝ่าย ก่อนจะบริโภคข้อมูล

รู้จักกับ Drill Ship (แบบรวบรัด)

เรือขุดเจาะฯก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เรือธรรมดาๆ ที่เจาะรูโตๆ ตรงกลาง แล้วเอาปั้นจั่นขึ้นไปตั้ง เหมือนในรูปข้างล่างนี่แหละครับ เป็นรูปเรือขุดเจาะฯ Seacrest ล่ะครับ



(เครดิตรูปภาพ Thai Wreck Diver )


จะเห็นว่า ยิ่งปั้นจั่น สูง หรือ หนักเท่าไร โอกาสที่เรือจะพลิกคว่ำยิ่งสูง เรือขุดพวกนี้จะถูกคำนวนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ขณะจอดขุด กับ ขณะที่ต้องแล่นไปในทะเล ปั้นจั่นจะหนักได้เท่าไร จึงจะทนคลื่นลมได้เท่าไร

แล้วปั้นจั่นจะหนักขึ้นได้อย่างไร ปั้นจั่นจะหนักขึ้นได้ ก็เมื่อเราเอาก้านเจาะไปพิงๆเอาไว้เยอะๆไงครับ ดังนั้น โดยไม่ต้องคิดคำนวนอะไรมากเลย ถ้ามีก้านเจาะไปพิงเอาไว้เยอะแต่ไหน เรือยิ่งจะพลิกค่ำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

เพื่อความสมบูรณ์ของบทตวาม ผมขอเอารายละเอียดทางเทคนิคมาให้ดูประกอบ แต่จะไม่เน้น ไม่อธิบายอะไรนะครับ เดี๋ยวจะยืดยาวเกินความจำเป็น



(เครดิต Wikipedia)


แล้วในขณะขุด เรือพวกนี้จะอยู่กับที่ได้อย่างไร ... มี 2 วิธีครับ

1. ใช้ระบบที่เรียกว่า Dynamic Positioning (DP) มีใบพัดอยู่ใต้ท้องเรือหลายๆตัว หันทิศทางไปมา ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่ต่ออยู่กับ GPS ใบพัดพวกนี้ก็จะทำงานตลอดเวลา มีความแม่นยำสูง แต่กินน้ำมันน่าดูเลยครับ Deepwater Horizon ก็ใช้ระบบนี้ หารูปแบบที่เป็นเรือไม่ได้ เห็นไม่ชัด เอารูปแบบเป็นแท่น semi Sub แบบ Deepwater Horizon ไปดูก็แล้วกัน อารมณ์ประมาณเดียวกัน คือมีใบพัดอยู่หลายๆตัวใต้ท้องเรือ เรียกว่า Truster คอยส่ายหมุนไปมาเหมือนพัดลมน่ะ



(เครดิตภาพ www.drillingcontractor.org )


2. Mooring เป็นภาษาเรือ พูดง่ายๆคือ เอาสลิงขึงแล้วทอดสมอลงไป ก็มีหลายรูปแบบ ก็แล้วแต่จะคิดกันว่าแบบไหนเหมาะกับเรือแบบไหน รูปข้างล่างเป็นแค่ตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างเท่านั้น





เครดิตภาพ US Patent


Seacrest ใช้ระบบ 8 สมอ สมอแต่ล่ะตัวหนัก 30000 ปอนด์ (13.64 ตัน) ขึงด้วยสลิงเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ทั้งหมด 8 เส้น แต่ล่ะเส้นยาว 7000 ฟุต (2.13 กิโลเมตร) ... (wki) ... ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ก่อนก็เพราะว่าจะโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จะอ่านต่อไปภายหลังครับ

ตำแหน่งสุดท้าย

มาดูกันว่า ตำแหน่งสุดท้ายที่ Seacrest จอดก่อนโดนพายุเกย์คือที่ไหน ตรงนี้ครับ 9.7 N 101.4 E ตามแผนที่นี้เลยครับ (ทุกแหล่งข้อมูลตรงกัน)



เรือหันหัวไปทางตะวันออก ก็คือตามลูกศรสีดำในรูปข้างบนน่ะครับ สังเกตุสเกล 50 กม. ที่มุมขวาล่าง ก็คงพอประมาณระยะทางจากจุดอ้างอิงต่างๆได้คร่าวๆ ปีพ.ศ.นั้น ฐานสนับสนุน และ สนามบินขึ้นลงฮ.อยู่ที่สงขลา ไม่ใช่ที่นครศรีธรรมราชอย่างในปัจจุบัน ฮ.บินเที่ยวเดียวไปจากสงขลาราวๆ 1 ชม.ครับ



เครดิตรูปภาพ - กรมเชื้อเพลิงฯ


มาดูเทียบกับแผนที่สัมประทานบ้าง



ปูพื้นมาพอสมควรแล้ว ก็ประมาณนี้ครับ จากนี้เราก็มาเข้าเรื่องกัน

13 ชั่วโมงสุดท้ายของ Seacrest

เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในปี 1989 (พ.ศ. 2532) นะครับ เว้นแต่จะใส่ปีไว้ว่าเป็นปีอื่น ข้อมูล (time line) ส่วนนี้มาจาก FaAA โดยจะมีแหล่งข้อมูลอื่นแทรกเป็นระยะๆ ดูได้ตามระหัสย่อที่ได้ตกลงกันไว้ข้างต้น เพื่อจะได้เห็นความเหมือนความต่างจากหลายๆแหล่งข้อมูล

3 พ.ย.

00:00 น. Seacrest จอดอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแท่นผลิตปลาทอง (แท่นผลิตนี้มีส่วนที่พักอาศัยด้วย - living quarter) โดยมีเรือสนับสนุนจอดอยู่ใกล้ๆ 2 ลำ ลำหนึ่งชื่อ Gray Guard ผูกติดอยู่กับทุ่นใกล้ๆแท่นผลิตปลาทอง อีกลำหนึ่งชื่อ Gray Vanguard จอดอยู่ข้างๆทุ่นใกล้ๆ Seacrest (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เรือต่างๆที่ทำงานในอ่าวไทย ... mop)

03:00 น. Seacrest เตรียมที่ปิดและสละหลุมชั่วคราว ... เป็นมาตราการปกติเพื่อเตรียมรับไต้ฝุ่นที่กำลังจะมา ปกติเรือจะต่อติดอยู่กับหลุมด้วย marine riser (ดูความหมายของ marine riser ใน สุดท้ายแล้วเขาจัดการกับหลุม Macondo 252 อย่างไร ) พอทราบว่าจะมีไต้ฝุ่นมา ก็จะเตรียมออกเรือหนีว่างั้นเถอะ ... (mop)

05:30 น. ถอน marine riser ขึ้นมาบนเรือเรียบร้อย

07:00 น. ศูนย์ควบคุมเรือของยูโนแคล ติดต่อ Seacrest company man เพื่อขอเรือสนับสนุน Gray Guard ของ Seacrest ที่ผูกติดอยู่กับทุ่นใกล้ๆแท่นผลิตปลาทองไปช่วยเหลือที่แท่นขุด Robray T4 เพราะว่า แท่นขุด Robray T4 กำลังเคลื่อน (ออกนอกการควบคุมของเรือสนับสนุนของตัวเอง คืองี้ครับ Robray T4 เป็นแท่นขุดประเภทแพลอยน้ำ ไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง เวลาจะไปไหนที ก็ต้องมีเรือสนับสนุนลากไป หรือเวลาขุดเจาะอยู่ก็ต้องลงสมอยึดตำแหน่งเอาไว้ ในขณะนั้นคลื่นลมคงแรง และสมอคงจะเคลื่อน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทแท่นขุดนอกชายฝั่งได้ที่ ขุดหาน้ำมันกันอย่างไร? ตอน แท่นขุดเจาะ ... mop)

07:13 น. Gray Guard แล่นออกจากแหล่งปลาทอง (ไปยัง Robray T4)

(โดยปกติการปฏิบัติงานในพ.ศ.นั้นแท่นขุดจะต้องมีเรือสนับสนุน 2 ลำ การใช้งานเรือสองลำนี้อยู่ภายใต้การสั่งงานของ company man ว่าจะให้ไปไหน หรือ จะให้ใครยืม ปกติแล้วจะให้ลำนึงไปเอาของ ไปๆมาๆ ระหว่างฝั่งหรือแท่นฯข้างเคียง ส่วนอีก 1 ลำ จะให้จอดอยู่ใกล้ๆเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ... mop)

08:00 น. ศูนย์ควบคุมเรือของยูโนแคล ติดต่อ Seacrest company man เพื่อของเรือสนับสนุนอีกลำของ Seacrest ซึ่งคือ Gray Vanguard ที่จอดอยู่ข้างๆทุ่นใกล้ๆ Seacrest ไปช่วยเหลือ แท่นขุด Robray T4 company man อนุญาติ ให้เหตุผลว่า Seacrest มีเคลื่องยนต์เคลื่อนที่ได้เอง (ช่วยตัวเองได้หากมีอะไรฉุกเฉิน ... mop)

08:30 น. Gray Vanguard แล่นออกจาก Seacrest ไป  Robray T4 หลังจากนั้น Gray Vanguard ก็แล่นเข้าฝั่งที่สงขลาเพราะเสียหายจากพายุ

.... เกิน 10000 ตัวอักษร ต่อที่ความเห็นที่ 1 นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่